ข้อมูลทั่วไป1
- รายละเอียด
- ฮิต: 133
ข้อมูลทั่วไป
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองหัวคู
1. ประวัติความเป็นมา ที่ตั้ง สภาพโดยทั่วไป
1.1 ประวัติความเป็นมาของตำบลหนองหัวคู/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองหัวคู
จากการบอกเล่าบ้านหนองหัวคูสมัยก่อตั้งหมู่บ้านมีนายแพร ขาวขำและนางวันดี ขาวขำ ภรรยาเป็นผู้บุกเบิกในการสร้างหมู่บ้านหนองหัวคูขึ้นมา “บ้านหนองหัวคู”ชื่อนี้มีที่มาคือหนองน้ำที่อยู่หลังโรงเรียนหนองหัวคูปวงประชานุเคราะห์ในปัจจุบันนี้ สมัยก่อนมีพระธุดงค์เดินธุดงค์มาแล้วมรณภาพที่หนองน้ำแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านทางภาคอีสานจะเรียกพระว่า “ญาครู”จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้คือ“บ้านหนองญาครู”แต่ปัจจุบันได้เพี้ยนมาเป็น“บ้านหนองหัวคู”โดยที่หมู่บ้านหนองหัวคูนี้ เป็นหมู่ที่ 13 ของตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ต่อมาปี พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนมาเป็นตำบลคำบง ช่วงนั้น นายสิงห์ แก่นดี ดำรงตำแหน่งเป็นกำนันและต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้เปลี่ยนมาเป็นตำบลหนองหัวคู อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ช่วงนั้น นายบุญเติม ขาวขำ ดำรงตำแหน่งเป็นกำนัน
ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหัวคู ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2507 โดยได้งบประมาณจากชาวบ้าน ตั้งชื่อว่า “สุขศาลา” ลักษณะอาคารพื้นสูงมีใต้ถุน
ปี พ.ศ.2515 ยกฐานะเป็นสำนักงานผดุงครรภ์
ปี พ.ศ.2525 สร้างอาคารหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีอนามัยหนองหัวคู
ปี พ.ศ.2541 สร้างอาคารหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม
ปี พ.ศ.2550 วันที่ 1 ตุลาคม ยกฐานะเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนหนองหัวคู
ปี พ.ศ.2553 วันที่ 1 ตุลาคม ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหัวคู
1.2 ที่ตั้ง/อาณาเขต
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหัวคู ตำบลหนองหัวคู อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่หมู่ที่ 11 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 80 ตารางวา ล้อมรอบด้วย 4 หมู่บ้าน บนถนนสายหลักระหว่างตัวอำเภอบ้านผือ และตัวจังหวัดอุดรธานี ระยะทางถึงตัวอำเภออำเภอบ้านผือ 22 กิโลเมตร และตัวจังหวัด 33 กิโลเมตร รับผิดชอบหมู่บ้านรวม 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่อยู่ไกลสุด 6 กิโลเมตร และ3 กิโลเมตร ตามลำดับ มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลฝาง อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย
ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลเขือน้ำ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลคำบง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
1.3 สภาพภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่ทั่วไปของตำบลหนองหัวคู เป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านใช้บริเวณที่ราบลุ่มเป็นที่ทำนา ไร่อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง การปศุสัตว์ เลี้ยงโค กระบือ ทิศตะวันออกห่างจากหมู่บ้านที่ตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของฟาร์มหมูขนาดใหญ่ ทิศตะวันตก ห่างจากหมู่บ้านที่ตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 5 กิโลเมตร เป็นทำเลที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลอุดรธานี
1.4 สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศมีลักษณะร้อนชื้น มี 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ฤดูร้อนอากาศร้อนแห้งแล้ง ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ฝนตกชุกปานกลาง ฝนตกหนักในเดือนสิงหาคม ส่วนฤดูหนาวหนาวถึงหนาวจัด
1.5 การคมนาคม/และการส่งต่อ
ทำเลที่ตั้งติดของโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลหนองหัวคู อยู่บนถนนสายหลักซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอำเภอบ้านผือ และตัวจังหวัดอุดรธานี มีการขยายถนนเป็นสี่เลนในช่วงผ่านเข้าหมู่บ้าน และหัวท้ายเป็นทางแคบ การคมนาคมติดต่อระหว่างหมู่บ้านทุกสาย เป็นถนนลาดยางและคอนกรีต ส่งผลประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้อย่างสะดวก และและมักจะถูกใช้เป็นจุดในการขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินของรถส่งต่อผู้ป่วยทั้งของโรงพยาบาลบ้านผือ และอำเภอใกล้เคียง เช่น การช่วยทำคลอดฉุกเฉิน การช่วยฟื้นคืนชีพ การส่งต่อผู้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองหัวคูอาศัยความร่วมมือเครือข่าย 1669 องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวคู โดยมีการจัดบริการเวรรับและส่งต่อตลอด 24 ชั่วโมง
2. ข้อมูลการปกครอง ศาสนา การศึกษา สาธารณูปโภค และด้านเศรษฐกิจและสังคม
2.1 ด้านการปกครอง ตำบลหนองหัวคูอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวคู อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี แบ่งเขตการปกครองเป็น 11 หมู่บ้าน อยู่ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองหัวคู จำนวน 6 หมู่บ้าน โดยมี นายมานิตย์ นิยมเหลา เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองหัวคู
2.2 ด้านศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการรักษาวัฒนธรรมประเพณีตามฮีต 12 ครอง 14 รวมกันปฏิบัติกิจทางศาสนาเป็นประจำทุกปี มีแห่งศาสนาในพื้นที่ มีวัดทั้งหมดจำนวน 5 แห่ง และโบสถ์คริสต์ 1 แห่ง ดังนี้
1.วัดเทพนมิต (วัดดง) หมู่ที่ 1 บ้านหนองหัวคู
2.วัดฉิมพลีวัลย์ หมู่ที่ 4 บ้านโพธิ์
3.วัดบ้านกุดเม็ก หมู่ที่ 6 บ้านกุดเม็ก
4.วัดทรายโธงทอง หมู่ที่ 9 บ้านหนองหัวคู
5.วัดป่าบ้านหนองหัวคู (วัดโคก) หมู่ที่ 11 บ้านหนองหัวคู
6.โบสถ์คริสตจักรบ้านหนองหัวคู หมู่ที่ 9 บ้านหนองหัวคู
2.3 ด้านการศึกษา
ประชากรในพื้นที่บริการส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษา สามารถอ่านออก เขียนได้ และให้ความสำคัญกับการจัดการระบบการศึกษาของบุตรหลาน มีการร่วมตัวกันขับเคลื่อนจนสามารถมีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่ตำบล มีรายละเอียดโรงเรียนในพื้นที่ได้แก่
โรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง
- โรงเรียนหนองหัวคูปวงประชานุเคราะห์ หมู่ที่ 11 บ้านหนองหัวคู
โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง
- โรงเรียนบ้านหนองหัวคู หมู่ที่ 1 บ้านหนองหัวคู
- โรงเรียนบ้านโพธิ์ หมู่ที่ 4 บ้านโพธิ์
- โรงเรียนบ้านกุดเม็ก หมู่ที่ 6 บ้านกุดเม็ก
ศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่ง
- ศูนย์เด็กเล็กบ้านโพธิ์ หมู่ที่ 4 บ้านโพธิ์
- ศูนย์เด็กเล็กบ้านหนองหัวคู หมู่ที่ 9 บ้านหนองหัวคู
2.4 ด้านสาธารณูปโภค
- ไฟฟ้ามีใช้ทุกหมู่บ้านและทุกครัวเรือน
- มีประปาหมู่บ้าน ใช้ทุกหมู่บ้าน
2.5 ด้านเศรษฐกิจและสังคม
การประกอบอาชีพ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ ทำนา ทำไร่อ้อย
ยางพารา มันสำปะหลัง การปศุสัตว์ เลี้ยงโค กระบือ และมีบางส่วนรับจ้างในโรงน้ำตาลและฟาร์มหมู ครัวเรือนส่วนใหญ่มี ฐานะปานกลาง
ด้านสังคม ยังคงมีลักษณะสังคมชนบท ชุมชนส่วนใหญ่ให้คุณค่าความสำคัญกับระบบอาวุโส
ทุกชุมชนให้ความสำคัญกับระบบเครือญาติกิจกรรมทางศาสนา การรักษาประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น และประชาชนสนใจเหตุการณ์บ้านเมือง การปกครอง และการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมของชุมชน
2.6 พฤติกรรมการกินอยู่ และการดูแลบุตรหลาน
จากการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ พบว่า ประชากรส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการแลสุขภาพ ในรูปแบบ เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพจึงจะยินยอมเข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่ใช้บริการการดูแลสุขภาพกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองหัวคูก่อน เดินทางเข้าตัวอำเภอ
พฤติกรรมการกินอยู่ พบว่า ส่วนใหญ่ซื้ออาหารสดจากตลาดในหมู่บ้านมาประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้าน และซื้ออาหารสำเร็จรูปในช่วงโรงการน้ำตาลเปิดหีบอ้อยซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ต่อปี
พฤติกรรมการเลี้ยงดูบุตรหลาน พบว่า เนื่องจากประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 ออกไปทำงานนอกบ้าน จึงมอบหมายให้ผู้สูงอายุอยู่ดูแลบุตรหลานที่บ้านในช่วงเวลาตอนกลางวัน ร้อยละ 10 อพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานต่างถิ่น และภาระการดูแลบุตรหลานตกอยู่กับผู้สูงอายุ
3. ข้อมูลประชากร หลังคาเรือน ที่รับผิดชอบ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองหัวคู รับผิดชอบ 6 หมู่บ้าน 1,136 หลังคาเรือน
ปิรามิดประชากร
ข้อมูลประชากรจากระบบฐานข้อมูล HDC ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2566